มนุษย์ล้อ..หัวใจเหล็ก

  มนุษย์ล้อ..หัวใจเหล็ก

  มนุษย์ล้อ..หัวใจเหล็ก

เมื่อ 3 ปีก่อน ฉันได้รับแจ้งจากอาสาสมัครสาธารณสุขของหมู่บ้านนาหว้า ว่ามีผู้ป่วยอัมพาตกลับจากกรุงเทพฯมาอยู่ที่บ้าน ช่วยไปดูหน่อย  เนื่องจากบ้านของเขาเป็นหมู่บ้านที่ใกล้โรงพยาบาลจึงไม่ลำบากอะไรต่อทีมผู้ดูแลของโรงพยาบาลเท่าไรนักในการเดินทางไปเยี่ยม วันนั้นฉันเลยได้ไปนั่งอยู่ที่บ้านของผู้ป่วยคนนั้น ด้วยความต้อนรับจากแม่ของเขาเป็นอย่างดี ทราบชื่อตอนนั้นว่าผู้ป่วยชื่อ ไผ่ เขาเป็นเด็กหนุ่มที่หลังจากจบ ม.3 ก็เข้าไปมุ่งหางานทำในเมืองหลวง ตามกระแสนิยมของเด็กสมัยใหม่ที่นี่เพราะความไม่ต้องสืบสานงานการทำไร่ทำนา และการเรียนในโรงเรียนกับหนังสือก็ไม่ได้มีการผสานให้รับช่วงอาชีพของพ่อแม่ วิถีความคิดและการทำงานจึงเปลี่ยนไป

เมื่อไปอยู่เมืองกรุง ไผ่ได้เข้าทำงานในโรงงานเป็นพนักงานทั่วไป ฝ่ายการตลาดบริษัทแครี่บอยจำกัด ขยับหน้าที่ของตัวเองขึ้นตามวัย และความสามารถ จนมาถึงหน้าที่สุดท้ายคือขับมอเตอร์ไซค์ส่งของให้บริษัท วันที่เขาจดจำได้ดีคือหลังเลิกงานวันที่ 26 ก.ค. 2547  ไผ่จะกลับบ้านพักหลังเลิกงานตามปกติ เขาขับรถมอเตอร์ไซค์คันที่ใช้ประจำ ช่วงเวลาที่เขาจะได้พักผ่อนกำลังใกล้มาถึง  จังหวะที่กำลังจะเลี้ยวรถที่ปลายเกาะของถนน เพียงแค่ท้ายรถลับปลายเกาะ สำเหนียกสุดท้ายของเขาคือเสียงดังเปรี้ยง แล้วทุกอย่างก็เงียบสนิท  นานแค่ไหนไม่รู้กว่าจะรู้สึกตัว รถของไผ่ถูกรถกะบะพุ่งชน  ขณะนั้นไผ่รู้สึกตัวเพียงเล็กน้อย ก็ไม่สามารถเคลื่อนไหวตัวได้ ไผ่ถูกนำส่งโรงพยาบาลจุฬารัตน์ กรุงเทพฯ แพทย์ผู้รักษาส่งต่อโรงพยาบาลนพรัตน์ วินิจฉัยว่าเส้นประสาทสันหลังช้ำ จากกระดูกสันหลังร้าว( spinal cord injury ระดับ T4  complete cord regions )  ต้องได้รับการผ่าตัดดามเหล็ก และสกรูที่กระดูกหลัง  ไผ่ยังไม่สามารถยอมรับสภาพความเจ็บป่วยได้ หลังเข้ารับการผ่าตัดกระดูกสันหลัง ไผ่เสียความรู้สึกตั้งแต่ระดับเอวลงมา ขาสองข้างกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย ความทรมานกับความเจ็บปวดจากการผ่าตัด การไม่สามารถขับถ่ายได้ตามปกติต้องใส่สายสวนปัสสาวะ ต้องใส่ผ้ารองรับอุจจาระที่ไม่อาจกลั้นได้เหมือนปกติ ทำให้ไผ่ เกิดความท้อแท้กับสภาพร่างกาย  ระหว่างรับการรักษาพยาบาลที่รพ.นพรัตน์ เป็นเวลา 1 เดือน มีแม่ที่คอยดูแลในโรงพยาบาลในเมืองที่ห่างไกลบ้าน  สิ่งที่หล่อเลี้ยงเขาขณะนั้นคือแพทย์ผู้ที่เคยทำงานอยู่ที่อำเภอด่านซ้ายและได้พบและให้การดูแลพูดคุยกับเขาและครอบครัวในขณะรักษาตัวอยู่ด้วยความเป็นกันเองเหมือนมีญาติอีกคนหนึ่งทำให้คลายกังวลไปบ้าง  กำลังใจจากครอบครัว และข้อมูลจากทีมรักษาถึงการฟื้นฟูสภาพต่อเนื่อง อีกทั้งยังเห็นเพื่อนผู้ป่วยที่มีสภาพคล้ายกันนอนเรียงรายขณะนั้นทำให้ไผ่ค่อยๆยอมรับสภาพกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ความเจ็บปวดจากบาดแผลผ่าตัดเป็นสิ่งที่ทรมานสำหรับเขา แต่เมื่อรอยแผลจางลง สิ่งที่เจ็บปวดกว่านั้นคือเขาได้กลายเป็นชายพิการไปแล้ว

หน้าที่การงานในเมืองที่เคยฝันไว้และกำลังไปได้สวยต้องทิ้งไว้ข้างหลัง แต่สิ่งที่ครอบครัวต้องยอมรับและเลือกที่เยียวยาเขา คือ การพากลับมาอยู่ร่วมกันที่บ้านเหมือนเช่นเคย

เมื่อครอบครัวพาเขากลับมาที่บ้าน ไผ่ยังต้องใส่ชุดเกราะป้องกันการเคลื่อนของกระดูกหลังการผ่าตัด มันทำให้การเคลื่อนไหวแขน คอส่วนที่เหลือดูยุ่งยากสำหรับเขา ความยุ่งยากที่ว่าเริ่มจากเขาไม่สามารถทำได้แม้กระทั่งการพยายามพลิกตะแคงตัวเองตอนนอน ได้แต่มองจ้องหลังคาบ้านและรายการทีวีในจอที่อยู่ปลายเท้าเท่านั้น

เมื่อฉันได้พบกับเขาครั้งแรกความเป็นคนแปลกหน้ายังเจืออยู่ ฉันได้แต่ไต่ถามอาการทั่วไปเพื่อที่จะหาสิ่งที่เป็นความหวังของเขา ในช่วงเวลาเช่นนี้สิงที่ทำได้ดีที่สุดคือการให้กำลังใจ เราเริ่มวางแผนการดูแลไผ่ ร่วมกัน ไผ่ตกลงที่จะมารับการฟื้นฟูด้วยกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาล โดยโรงพยาบาลจะส่งรถมารับทุกวัน และตั้งแต่หลังจากวันนั้น  16 สิงหาคม 2547เราก็ได้ไผ่มาเป็นสมาชิกในห้องฟื้นฟูสภาพ โดยมีแม่ติดตามมาเป็นผู้ช่วยฝึกอีกที จากวันที่ไผ่ต้องมีสภาพนอน พลิกตะแคงตัวบนเตียงเองไม่ได้ โดยมีพันธนาการเสื้อเกราะที่ต้องใส่เพื่อพยุงกระดูกส่วนที่ได้รับการผ่าตัดให้มั่นคงอยู่ เมื่อเวลาผ่านไป เขาก็สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น ตั้งแต่ลุกนั่ง นอน ลงจากเตียงมารถเข็น จนสุดท้ายสามารถใช้รถเข็นนั่งไปไหนมาไหนได้แทนขาสองข้าง  วันหนึ่งเมื่อฉันเห็นว่าโปรแกรมการฟื้นฟูสภาพของไผ่ใกล้จะบรรลุจุดประสงค์แล้ว จึงกลับมามองดูว่าไผ่ยังมีสิ่งใดที่เขายังอยากจะบอกอีก เมื่อพบว่าสิ่งที่เขากังวลคือ เมื่อเขากลายเป็นคนพิการ คนอย่างเขาจะทำอะไรในสังคมได้อีก สมองกับสองมือไงล่ะ การที่จะทำให้ไผ่ค้นพบสิ่งที่เหลือของตัวเองไม่ใช่สิ่งยาก แต่การมีโอกาสเป็นสิ่งที่ยากยิ่งสำหรับผู้พิการทั่วไปในบ้านเมืองเรา แต่เมื่อโอกาสมาถึง โดยผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพ.ภักดี สืบนุการณ์ ของเราตัดสินใจรับไผ่เข้าเป็นเจ้าหน้าที่คนหนึ่งของโรงพยาบาลตามที่ฉันเสนอ และกรรมการท่านอื่นๆก็เห็นควร  ฉันคิดว่าสิ่งที่ว่ายากตอนนี้คือการก้าวข้ามในสิ่งที่คนปกติทั่วไปจะยอมรับความพิการที่เหลืออยู่และให้โอกาสให้เขาได้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม... ตอนนี้ไผ่ได้ก้าวข้ามมันแล้ว

            1 มกราคม 2548 ไผ่ได้มาเป็นบุคลากรคนหนึ่ง ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ห้องสมุด ทุกวันรถของโรงพยาบาลจะคอยไปรับ ส่งถึงบ้าน เพื่อให้เขาได้มาปฏิบัติหน้าที่บนรถเข็นนั่งคู่ใจ เมื่อคนหนึ่งคนมีศักยภาพ การส่งเสริมสนับสนุนก็มีมาอย่างต่อเนื่อง ไผ่ได้แสดงความสามารถด้านการทำงานคอมพิวเตอร์ จนสามารถทำงานเป็น web master ของโรงพยาบาลอีกคนหนึ่งได้ และจากการที่ไม่ย่อท้อกับการทำงาน ไม่มีความแตกต่างระหว่างเจ้าหน้าที่ทั่วไป ความพิการของไผ่จึงเป็นเรื่องที่เรามองผ่านเลยไป เพราะเขาสามารถทำงานได้ใกล้เคียงกับคนอื่น จะยุ่งยากสักหน่อยกับเมื่อตอนต้องขึ้นอาคารสูงที่มีบันได  ด้วยความคุ้นชินในบางครั้งฉันเผลอใช้งานเขาโดยลืมความพิการของเขาไปเลย

            การที่มีความพิการเป็น ของแถมให้เรียนรู้ในชีวิตของไผ่ มันอาจเป็นสิ่งที่หลายคนขยาด และไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่สำหรับ ไผ่  ของแถมนี้มีค่ากว่าของแถมสินค้าทั่วไปตามท้องตลาด เพราะเขาสามารถนำมาแบ่งปันความรู้สึกกับเพื่อนผู้ป่วยผู้พิการคนอื่นได้อย่างชัดเจนกว่าเจ้าหน้าที่ที่ร่างกายปกติ  เมื่อไหร่ที่มีผู้ป่วยที่ต้องสูญเสีย ท้อแท้ เหมือนที่ไผ่เจอมาก่อน เราจะได้เห็นไผ่ เป็นคุณหมอพิเศษที่คอยเยียวยาผู้ป่วยกลุ่มนั้นก่อนพบเจ้าหน้าที่เสียอีก หรือระหว่างที่ผู้ป่วยกลุ่มนั้นยังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลไผ่จะกลายร่างเป็นเพื่อนและญาติพิเศษที่คอยเยี่ยมเยียนเป็นระยะ

            เนื่องจากการที่  ไผ่ได้เข้าทำงานในหน้าที่และในฐานะบุคลากรคนหนึ่งของโรงพยาบาล  การให้การดูแลอย่างเต็มศักยภาพเพื่อการเยียวยาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งจึงเป็นหน้าที่หลักของโรงพยาบาล โดยมีการจัดรถรับส่งจากที่บ้านมาทำงานยังโรงพยาบาล โดยระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตรโดยมีพนักงานขับรถของโรงพยาบาลเป็นผู้รับส่งเป็นประจำ  แต่เนื่องจากสภาพรถที่ใช้ในบ้านเรายังไม่เอื้ออำนวยในการช่วยเหลือตัวเองของผู้ป่วยผู้พิการมากนัก โดยเฉพาะผู้ป่วยอัมพาตครึ่งท่อนแบบสมบูรณ์เช่นไผ่ ทำให้การขึ้นลงรถต้องอาศัยการช่วยเหลือโดยการยกอุ้ม ทั้งขึ้นและลง จุดนี้เองที่ทำให้ไผ่มีความรู้สึกว่า หากเขาไม่ต้องให้ผู้อื่นช่วยเหลือมากนัก ก็จะเป็นการดีมาก และถ้าเขาต้องเดินทางไปไหนมาไหนด้วยตนเองเหมือนอย่างเช่นเคย ชีวิตที่ดูเหมือนจะเป็น ภาระก็จะกลับมามีความเป็น อิสระมากยิ่งขึ้น จากแนวความคิดนี้ทางทีมฟื้นฟูสภาพกายภาพบำบัดจึงได้พูดคุย หาแนวทางการดูแลเพื่อให้ไผ่ดำรงชีวิตอิสระได้มากขึ้น โดยออกแบบรถมอเตอร์ไซค์สำหรับผู้พิการเพื่อให้ไผ่สามารถเดินทางด้วยตนเองได้ โดยอย่างน้อยสามารถเดินทางไปกลับ บ้าน-โรงพยาบาลซึ่งเป็นที่ทำงานได้สะดวกโดยไม่ต้องพึ่งพาใคร โดยแบบรถดังกล่าวเป็นรถต้นแบบที่ทดลองผลิตขึ้นโดยความร่วมมือของ ฝ่ายเวชกรรมฟื้นฟูกายภาพบำบัดโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย วิทยาลัยการอาชีพด่านซ้ายแผนกช่างไฟฟ้าและเครื่องยนต์ และรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดทำโดยกองทุนสงเคราะห์ผู้ป่วยยากไร้ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เป็นมูลค่ากว่า 70,000 บาท  โดยในระหว่างการจัดทำมีการติดตามและให้ ไผ่ ได้ทดลองสมรรถภาพของรถต้นแบบด้วยตนเองเพื่อหารือกับทีมเพื่อจัดทำให้เหมาะสมกับสภาพ ความต้องการ ความรู้สึกในการใช้งาน และเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการใช้งานสูงสุดต่อ ไผ่รถดังกล่าวได้เริ่มจัดทำเมื่อ 2551  และปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างการตบแต่งระยะสุดท้ายก่อนส่งมอบให้ไผ่เพื่อการใช้งาน ในเดือน ธันวาคม 2551

เราไม่ได้ตั้งความหวังว่ามันจะเป็นรถคันแรกที่เยี่ยมที่สุดสำหรับผู้พิการ และไม่ได้หวังว่ามันจะเป็นรถคันแรกที่ไม่มีใครเหมือน ไม่ได้หวังว่ามันจะแบบแรกที่ไม่มีใครคิดมาก่อน

เราหวังเพียงแต่ว่า...มันจะเป็นรถของเจ้าของที่แท้จริง คือ ไผ่ และถ้าหากสิ่งนี้มันจะถูกลอกเลียนเพื่อเปลี่ยนให้มันเกิดประโยชน์กับผู้พิการอื่นอย่างกว้างขวาง มันก็น่าจะเป็นสิ่งที่เราจะยินดีเป็นอย่างยิ่ง มิใช่หรือ

                                 เรื่องเล่าโดย แม่ขุนเขา (อรอุมา เนตรผง   นักกายภาพบำบัด โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย อ.ด่านซ้าย จ. เลย)

 

view