Book Start มหัศจรรย์หนังสือเล่มแรก

Book Start มหัศจรรย์หนังสือเล่มแรก

ความเชื่ออย่างหนึ่งของสังคมไทยที่ฝังอยู่ในความคิดอย่างแยกไม่ออกคือหนังสือเป็นสิ่งทรงทรงคุณค่าสมควรเป็นสิ่งที่ประดับไว้บนชั้นวาง ยากเกินกว่าที่จะนำลงมาเพื่อเสพรับความรู้ใดๆ จนมีสถิติที่แสดงว่าเด็กไทยเดินห่างจากหนังสือออกไปทุกที ด้วยการที่พวกเขาอ่านหนังสือเพียงปีละ 6 บรรทัดเท่านั้น เมื่อการอ่านกลายเป็นส่วนน้อยในความสนใจ เด็กจึงเลือกสนใจในสื่อเคลื่อนไหวซึ่งหากโชคร้ายก็อาจซึมซับเอาสื่อที่นำไปสู่ความรุนแรงได้และเมื่อต้องเหินห่างก็อาจนำไปสู่การเสื่อมร้างทางวัฒนธรรมทางภาษาที่มนุษย์ ได้สร้างสมและบันทึกไว้ในหนังสือ การที่มนุษย์ผู้หนึ่งซึ่งเติบใหญ่ขึ้นอย่างสมบูรณ์เพื่อค้ำจุนสังคมให้คงอยู่นั้น ต้องประกอบด้วยส่วนผสมที่สำคัญทั้งทางร่างกาย ทางปัญญาและที่สำคัญยิ่งกว่าคือหัวใจที่สมบูรณ์ไปด้วยความรัก หนังสือไม่เพียงเป็นคู่มือทางความรู้ แต่ผลมหัศจรรย์ของหนังสือสามารถนำเด็กคนหนึ่งสู่ความสมบูรณ์ของมนุษย์ได้อย่างราบรื่นและไม่เป็นการหยิบยื่นอย่างบีบบังคับ ในปี2547 จึงเกิดโครงการหนังสือเล่มแรก ของมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ในการส่งเสริมให้ผู้ปกครองประคองกอดลูกไว้บนตักและอ่านหนังสือให้เด็กฟังตั้งแต่อายุ 6– 9 เดือน ซึ่งลูกน้อยอาจยังไม่สามารถรับรู้เนื้อความใดๆจากหนังสือ แต่ลูกจะได้รับสัมผัสทางกายและแววตาซึ่งเป็นช่องทางที่เด็กและพ่อแม่จะได้สื่อความรักแก่กันซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักที่จะสร้างรากฐานความมั่นคงทางใจให้เด็ก เมื่อสาสน์แห่งความปรารถนาดีถูกส่งผ่านพื้นที่ต่างๆในประเทศเทศไทย เสียงตอบรับจากพื้นที่ห่างไกลจากโอกาสในการได้เสพหนังสือ ได้รับการตอบสนองโดย หน่วยงานเวชปฏิบัติครอบครัว โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ด่านซ้าย จ.เลย ซึ่งเล็งเห็นประโยชน์ของหนังสือ จนเกิดการขับเคลื่อนให้พื้นที่กลายเป็นชุมชนของการอ่านโดยใช้ใจของเจ้าหน้าที่ในการดำเนินโครงการ ครอบครัวของน้องข้าวหอมเป็นผลสะท้อนผลมหัศจรรย์ของหนังสือ ที่ทุกค่ำคืนของบ้านเป็นช่วงเวลาที่สมาชิกทุกคนรอคอยที่จะใช้เวลาอยู่ด้วยกัน โดยมีหนังสือเป็นสื่อกลาง พ่อแม่อ่านให้ลูกฟังและลูกเองก็ทำหน้าที่เป็นผู้เล่าที่ดีหลังจากเป็นผู้ฟังที่ดีได้อย่างฉะฉาน นอกจากหนังสือจะเชื่อมใจทุกคนให้ร้อยเรียงเป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว หนังสือยังเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้รอยร้าวในความสัมพันธ์ถูกผสาน เพื่อดึงข้าวหอมกลับสู่ครอบครัวอีกครั้ง นอกจากบรรลุผลทางความรักแล้ว หนังสือยังส่งผลให้เด็กที่เข้าโครงการหนังสือเล่มแรกเป็นเด็กที่มีพัฒนาการทางการเรียนรู้ที่เป็นระบบและเริ่มต้นเร็วกว่าเด็กโดยทั่วไป ทั้งทางด้านสมาธิ การจดจำ ความมีเหตุมีผล และจินตนาการ แม้วิธีการปลูกฝังความรักการอ่านที่ดีนั้นควรเริ่มต้นจากครอบครัวอันเป็นจุดกำเนิดตั้งแต่วัยเยาว์ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีเด็กในสังคมอีกมากที่ไม่มีโอกาสได้อ่านหนังสือ เช่น เด็กๆในชุมชนกองขยะหนองแขมที่สิ่งสำคัญที่สุดของชีวิตคงเป็นอาหารสำหรับปากท้องไม่ใช่อาหารที่หล่อเลี้ยงปัญญา กลุ่มคนเล็กๆอย่าง we are happy จึงหอบหิ้วถุงหนังสือใบโตเข้าสู่พื้นที่ชุมชนด้วยความเชื่อว่าหนังสือควรถึงมือเด็กให้เร็วที่สุดจากประกายเล็กๆนั้นทำให้เกิดเครือข่ายจิตอาสาที่ทำโครงการเปิดบ้านอ่านหนังสือ ที่เนรมิตโรงรถของบ้านเล็กๆของครูนิตในชุมชนสุขทวี ซึ่งถูกทวีความสุขด้วยการรวมตัวของเด็กๆที่เปลี่ยนเด็กที่ก้าวร้าวและรู้จักการอ่านแต่ไม่คุ้นเคย ให้เป็นชุมชนพลเมืองเด็กแห่งความหวังในการเรียนรู้ต่อไป

view