“รางวัลไลอ้อนสุขภาพช่องปาก”

 

บทคัดย่อ

โครงการพัฒนากิจกรรมส่งเสริมทันตสุขภาพและบริการทันตกรรมในโรงเรียนประถมศึกษาในเขต

อำเภอด่านซ้าย  จังหวัดเลย

ฝ่ายทันตสาธารณสุข โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย  โรงเรียนประถมศึกษาในเขตอำเภอด่านซ้ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำกลวิธีเฝ้าระวังทางทันตสุขภาพมาใช้แก้ปัญหาทันตสุขภาพในโรงเรียนประถมศึกษาตั้งแต่พ.ศ. 2531 เป็นต้นมา    แต่จากการประเมินพบว่านักเรียนยังมีส่วนร่วมในกิจกรรมการแปรงฟันหลังอาหารกลางวันค่อนข้างน้อย  ทั้งๆ ที่เป็นกิจกรรมที่สำคัญที่สุดในการส่งเสริมทันตสุขภาพและฝ่ายทันตสาธารณสุขให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก     และยังขาดข้อมูลเพื่อประเมินผลทันตสุขภาพของนักเรียนประถมศึกษาที่เชื่อถือได้ เป็นสากล สามารถเปรียบเทียบกับการสำรวจทันตสุขภาพในพื้นที่อื่นได้  อีกทั้งการมารับบริการตามนัดในกลุ่มนักเรียนที่มีปัญหาฟันถาวรผุยังไม่ครอบคลุม   การศึกษาครั้งนี้เพื่อพัฒนากิจกรรมส่งเสริมทันตสุขภาพและบริการทันตกรรมและพัฒนาการประเมินผลทันตสุขภาพในโรงเรียนประถมศึกษา  โดยกิจกรรมการพัฒนาการส่งเสริมทันตสุขภาพและบริการทันตกรรม ซึ่งเริ่มดำเนินการอย่างจริงจังในปีการศึกษา 2549  ประกอบด้วย  1)การแบ่งเขตพื้นที่ของอำเภอออกเป็น  3 โซน และมอบหมายทันตบุคลากร (ทันตแพทย์และทันตาภิบาล)  ดูแลรับผิดชอบกิจกรรมทั้งหมดของโรงเรียนในเขตพื้นที่ของตนเอง  2) มีการจัดการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษางานอนามัยโรงเรียน  ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนครูผู้บริหาร ครูอนามัยและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข รวมทั้งทันตบุคลากร เพื่อให้คำปรึกษาและให้ข้อเสนอแนะต่อการพัฒนางานอนามัยโรงเรียน รวมทั้งการพัฒนากิจกรรมส่งเสริมทันตสุขภาพ  3)การพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการอบรมครูอนามัยในกิจกรรมส่งเสริมทันตสุขภาพ  โดยปรับปรุงกระบวนการอย่างต่อเนื่อง มีการจัดกิจกรรมทุกปีตั้งแต่ปี 2529- ปัจจุบันเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี  คืนข้อมูลและเสริมพลังอำนาจในด้านการจัดกิจกรรมส่งเสริมทันตสุขภาพในโรงเรียน  4)การจัดทำแนวทางเป็นระเบียบปฏิบัติที่ชัดเจนในการจัดกิจกรรมส่งเสริมทันตสุขภาพและบริการทันตกรรมในโรงเรียนประถมศึกษา  เช่น  การให้ทันตาภิบาลผู้รับผิดชอบประจำโซนพื้นที่ประสานงานกับโรงเรียนล่วงหน้าก่อนออกจัดกิจกรรมฯ 5)การพัฒนากิจกรรมการแปรงฟันหลังอาหารกลางวันที่โรงเรียน การแบ่งเกรดโรงเรียน เป็น A-F  จากข้อมูลร้อยละการมีแปรงสีฟันของนักเรียน และคืนข้อมูลให้แก่ครูอนามัยและผู้บริหารโรงเรียนตอนสิ้นสุดการให้บริการส่งเสริมทันตสุขภาพและบริการทันตกรรมที่โรงเรียนในแต่ละวันและในเวทีการอบรมครูอนามัยในกิจกรรมส่งเสริมทันตสุขภาพประจำปี  เพื่อกระตุ้นการพัฒนา 6)พัฒนาระบบการนัดมารับบริการทันตกรรมในนักเรียนที่มีฟันถาวรผุ  โดยนัดมาให้บริการในสถานที่และเวลาที่หลากหลาย เพื่อเพิ่มความสะดวกในการมารับบริการของนักเรียนและผู้ปกครองที่พามา  เช่น  การมารับบริการที่โรงพยาบาลในวันเวลาราชการหรือเสาร์-อาทิตย์   การนัดไปรับบริการที่ศูนย์สุขภาพชุมชน  การจัดรถไปรับนักเรียนที่โรงเรียนในกรณีผู้ปกครองไม่สะดวกพามารับบริการ  โดยให้ทันตาภิบาลผู้รับผิดชอบประจำโซนพื้นที่ติดตามการมาตามนัดโดยประสานงานกับครูอนามัยอย่างใกล้ชิด   ส่วนกิจกรรมการพัฒนาการประเมินผลทันตสุขภาพ  ประกอบด้วย  1) การสอบถามจำนวนครั้งของการร่วมกิจกรรมการแปรงฟันหลังอาหารกลางวันในหนึ่งสัปดาห์ 2)การตรวจทันตสุขภาพนักเรียนชั้นประถมศึกษาทุกคนเพื่อประเมินความจำเป็นในการรับบริการทันตกรรม  3)การตรวจทันตสุขภาพนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งเป็นกลุ่มอายุที่ใช้ในการประเมินทันตสุขภาพในกลุ่มนักเรียนประถมศึกษาและใช้ทำนายแนวโน้มการเกิดโรคฟันผุในวัยผู้ใหญ่  โดยใช้เกณฑ์การตรวจที่เป็นมาตรฐานที่สามารถเปรียบเทียบกับข้อมูลจากการสำรวจในพื้นที่อื่นได้  การศึกษานี้เก็บข้อมูลในปีการศึกษา 2551  ในโรงเรียนประถมศึกษาทั้งหมดของอำเภอด่านซ้าย จำนวน 66 โรงเรียนโดยเก็บจากนักเรียนประถมศึกษาทุกคนที่มาเรียนในวันที่มีกิจกรรมส่งเสริมทันตสุขภาพและบริการทันตกรรมในโรงเรียนจำนวน  3,522  คน และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ทุกคนจำนวน 631  คน  การวิเคราะห์ข้อมูล  ใช้โปรแกรมสำเร็จรูปในการประเมินผล โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา

ผลการศึกษาพบว่า 1)ร้อยละเด็กนักเรียนที่มีแปรงสีฟันที่โรงเรียนร้อยละ   83.87  สูงกว่าปีการศึกษา 2550 ที่มีร้อยละ   81.60   โดยแนวโน้มของโรงเรียนที่นักเรียนมีแปรงสีฟันที่โรงเรียนสูงจะมีการร่วมกิจกรรมการแปรงฟันหลังอาหารกลางวันทุกวันสูงไปด้วย 2)ผลการตรวจทันตสุขภาพนักเรียนชั้นประถมศึกษาทุกคนพบว่ามีความชุกของการเกิดโรคฟันผุในปีการศึกษา 2549 2550 และ 2551  ร้อยละ 18.23  12.30 และ 10.59  ตามลำดับ โดยมีแนวโน้มน้อยลงอย่างชัดเจน 3)เด็กอายุ  12 ปี (ป.6) ปราศจากโรคฟันผุร้อยละ 55.94   สูงกว่าข้อมูลจากการสำรวจทันตสุขภาพในระดับประเทศ ครั้งที่ 6.. 2549-2550 ซึ่งปราศจากโรคฟันผุร้อยละ 43.13  4)เด็กอายุ  12 ปี (ป.6) มีค่าเฉลี่ย  ฟันผุ  ถอน  อุด  (DMFT)  ของเด็กอายุ 12 ปี   1.02 ซี่ ซึ่งอยู่ในระดับต่ำมากตามเกณฑ์ระดับความรุนแรงของโรคฟันผุขององค์การอนามัยโลกและต่ำกว่าข้อมูลจากการสำรวจทันตสุขภาพในระดับประเทศที่มีค่า 1.55 ซี่/คน  5)นักเรียนที่มีฟันถาวรผุมารับบริการทันตกรรมสูงถึงร้อยละ    83.90  6)การประเมินผลที่เป็นระบบมากขึ้น มีความเป็นรูปธรรม  ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถเห็นภาพผลจากการดำเนินงานร่วมกันได้ชัดเจน อันจะนำไปสู่การหาแนวทางร่วมกันในการพัฒนากิจกรรมการส่งเสริมทันตสุขภาพต่อไป

ผลการศึกษามีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการนำไปใช้ประโยชน์ในงานประจำโดย 1)นำไปใช้ในการพัฒนากิจกรรมส่งเสริมทันตสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น โดยการจัดกิจกรรมต้องคำนึงถึงบริบทและศักยภาพของแต่ละโรงเรียน  บนความคาดหวังและเป้าหมายที่แตกต่างกัน 2)ยืนยันว่าการพัฒนากิจกรรมส่งเสริมทันตสุขภาพและบริการทันตกรรมที่ทำมากก่อให้เกิดผลลัพธ์ทางทันตสุขภาพที่ดี  3)เกิดการพัฒนาระบบบริการทันตกรรม โดยเฉพาะการอุดฟันในกลุ่มฟันแท้ผุ  เพื่อป้องกันการผุทะลุโพรงประสาทฟัน ซึ่งต้องการรักษารากฟันที่ยุ่งยาก รวมทั้งอาจต้องสูญเสียฟันถาวรจากการถอนฟัน 4)ใช้ชื่นชมความสำเร็จของทีมงานทันตบุคลากร คณะครูและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทุ่มเททำงานเพื่อพัฒนาทันตสุขภาพของเด็กประถมศึกษา มาอย่างต่อเนื่อง 5)สรุปบทเรียนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนากิจกรรมส่งเสริมทันตสุขภาพและบริการทันตกรรมในกลุ่มเป้าหมายอื่น เช่น  นักเรียนก่อนวัยเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ยังมีปัญหาด้านทันตสุขภาพโดยเฉพาะอัตราการเกิดฟันผุในฟันน้ำนมสูง   จากการศึกษาในครั้งนี้สามารถสรุปปัจจัยแห่งความสำเร็จว่าในการส่งเสริมสุขภาพและจัดบริการรักษาโรคในกลุ่มเป้าหมายใดก็ตามผู้รับผิดชอบต้องมีความมุ่งมั่น มีการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการอย่างต่อเนื่องและจำเป็นต้องประสานการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

 

view